Unknown Unknown Author
Title: "ความหนาว" จะทำให้ "คนเหงา" ตายได้จริงหรือ?
Author: Unknown
Rating 5 of 5 Des:
"ความหนาว" จะทำให้ "คนเหงา" ตายได้จริงหรือ?    ทุกๆ ปีมีคนหนาวตาย แต่ไม่เคยมีใครเหงาตาย ยกเว้นแต่ความหนาวจะไปกระตุ้นอ...

"ความหนาว" จะทำให้ "คนเหงา" ตายได้จริงหรือ?

   ทุกๆ ปีมีคนหนาวตาย แต่ไม่เคยมีใครเหงาตาย ยกเว้นแต่ความหนาวจะไปกระตุ้นอาการเหงาให้ทวีความรุนแรงจนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและคิดสั้น นั่นแหละที่ "ความหนาว" จะทำให้ "คนเหงา" ตายได้


อิอิ ขำๆ 

     ภาษิตโบราณที่บอกว่า "ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก" อาจใช้ได้ดีกับนาทีนี้ที่วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ยังไม่ทันจะคลี่คลาย ภัยหนาวก็จ่อคิวเข้ามาเตรียมทำร้ายคนไทยอีกคำรบ เพราะจากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2554-2555 ที่ออกประกาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ระบุว่าฤดูหนาวจะเริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคม 2554 ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยในปีนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบนในช่วงเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคม จะมีอากาศหนาวเกือบทั่วไป และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่
     ลักษณะของความหนาวเช่นนี้ เป็นคำนิยามที่มีคำอธิบาย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุค่าของอุณหภูมิไว้ว่า อากาศเย็น หมายถึง อุณหภูมิ 16.0 - 22.9 องศาเซลเซียส อากาศหนาว หมายถึง อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส และอากาศหนาวจัด หมายถึง อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส
     ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา นั่นแปลว่า ประเทศไทยบางพื้นที่ อาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส!
    หนาวจัดอาจมีผลต่อคน "บางพื้นที่" ทว่า อากาศหนาวที่รุนแรงขึ้นกว่าทุกปี คน "ทุกพื้นที่" ต่างรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น
    อย่างน้อยๆ อาการเบื่อ เศร้า เหงา หงุดหงิด พาลคิดทำร้ายตัวเองที่เกิดขึ้นกับหลายคน ก็น่าจะเป็นผลพวงหนึ่งจากวิกฤตของภัยหนาว
   "จริงๆ เป็นโรคซึมเศร้าชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ จะมีอยู่ 2 อย่าง คือ ถ้าอารมณ์ซึมเศร้าในหน้าหนาว จะเรียกว่า winter depression หรือ winter blues แต่ถ้าสมมติว่าเป็นในช่วงฤดูร้อน จะเรียกว่า summer depression แต่ไม่ว่าจะ winter depression หรือ summer depression มันก็คือโรคซึมเศร้า" พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมนารมย์ บอก
    อาการซึมเศร้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลันนั้น มักเกิดในช่วงหน้าหนาวมากกว่าหน้าร้อน เหตุผลนั้น คุณหมอภัทรวรรณ บอกว่า เกิดเพราะหน้าหนาวมีช่วงเวลากลางวันที่สั้นกว่าเวลากลางคืน นั่นเอง
   "แสงแดดมีผลต่อสารเคมีในร่างกาย โดยแสงแดดพวกนี้จะไปเปลี่ยนการทำงานของ biological clock ทำให้สารเมลาโทนิน (melatonin) ที่มีผลต่ออารมณ์และการนอนหลับเสียสมดุล ในกรณีที่เราไม่ได้รับแสงแดด ในขณะเดียวกันถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไปสู่หน้าหนาว มืดเร็ว สว่างช้า จะทำให้ซีโรโทนิน (serotonin) ต่ำ มีผลต่อเนื่องทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นแสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในสภาวการณ์ที่อากาศเปลี่ยนแปลง หรือที่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า seasonal affective disorder (sad)"
ในประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะได้รับแสงแดดมากกว่าประเทศที่อยู่ห่างไกล แน่นอนว่า จำนวนผู้ป่วนโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลในประเทศเหล่านี้ย่อมน้อยกว่าประเทศที่อยู่ไกลเส้นศูนย์สูตร
   คุณหมอภัทรวรรณ ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย ที่มีผู้ป่วยโรค winter depression หรือ sad เพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ห่างออกไปอย่างฟินแลนด์ พบผู้ป่วยโรคนี้มากถึง 9.3 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว สำหรับประเทศไทย ข้อมูลตัวเลขอาจไม่ชัดเจน แต่คนที่เป็นโรค sad จิตแพทย์คนนี้บอก มีน้อยมาก
   "เนื่องจากว่า มันไม่ค่อยพบ เพราะบ้านเราแสงแดดเยอะ แล้วโรคนี้ไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัย หรือวินิจฉัยยาก ยากเพราะว่า มันจะต้องเป็นตามฤดู พอเป็นตามฤดูปุ๊บ...จะต้องเป็นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ปี สมมติปีนี้เป็น ส่วนมากจะเริ่มเป็นปลายฝนเข้าไปหาหน้าหนาว แล้วก็จะเป็นอยู่ทั้งฤดูเลย ประมาณ 3-4 เดือนตลอดจนจบหน้าหนาว นี่เป็นครั้งที่ 1 แล้วปีถัดไปก็เป็นในช่วงเวลาเดียวกันอีก คือช่วงปลายฝนแล้วก็ไปหาหน้าหนาว ระยะเวลา 3-4 เดือนเท่ากัน ถ้าเป็น 2 ปีติดกันแบบนี้ ถือว่าเป็น sad"
    ใครที่กำลังมีอาการดังต่อไปนี้ ขอให้เฝ้าระวังไว้ก่อนว่า น่าจะเข้าข่ายเป็น sad หรือ โรคซึมเศร้าในฤดูที่แตกต่าง
   "เบื่อ หงุดหงิด ต้องมีเลย 2 อันนี้ หรือข้อใดข้อหนึ่ง นอกนั้นถ้าสมมติเป็น winter depression ก็จะตามมาด้วยกินเยอะ นอนเยอะ ภาษาหมอจะเรียกว่า atypical depression คือมันไม่เป็นไปตามอาการซึมเศร้าปกติ ซึมเศร้าปกติส่วนมากจะแบบ...ไม่อยากกิน นอนไม่หลับ อันนั้นคือ typical แต่ถ้าพวกที่เป็น atypical จะตรงข้าม คือ กินเยอะ นอนมากกว่าปกติ ร่างกายไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง จะคล้ายคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขามันหนัก อ่อนเปลี้ยเพลียแรง แต่ก็เดินเป็นปกตินะ ไม่ได้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่มีกะจิตกะใจ ใจมันหดหู่ ไม่อยากทำอะไร สมาธิมันน้อยในการทำ ถ้าเป็นเยอะๆ ก็จะรู้สึกว่า ชีวิตตัวเองไม่มีค่า อยู่ไปก็ไม่รู้จะอยู่ทำไม อยู่ไปก็ไม่มีใครรัก ไม่อยากอยู่ ตาย"
     ร่ายอาการมายืดยาวขนาดนี้ ไม่ได้หมายความว่า ใครมีอาการแบบนี้แล้วต้องเป็นโรค sad ในทันที เพราะหากจะระบุว่าเป็นโรคนี้ได้จริงๆ นั้น ต้องมีการติดตามอาการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 ปี
    "อาการพวกนี้ต้องเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่า ฉันก็เบื่อ ฉันก็เซ็ง ฉันก็กินเยอะ ฉันก็นอนเยอะนะ แต่เป็น 2-3 วันหาย กลับมาเริงร่าได้เหมือนเดิม อันนั้นหมายถึงขี้เกียจ (หัวเราะ) หรือว่าอากาศหนาวแล้วเหงา แต่เหงาตามเพลง เหงาตามกระแส ฟังเพลงเกาหลีแล้ว อุ๊ย...ฉันไม่มีใคร คนอื่นมีแฟน เขาควงแฟน เราไม่มีใคร โอ๊ย...เหงา แต่ 2-3 วันก็หาย มันก็ไม่ได้เป็นโรคไงโรคซึมเศร้ามันต้องเป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป แล้วมีอาการตามที่ว่า 4-5 ข้อขึ้นไป ก็จะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้า และโรคนี้ก็เหมือนโรคซึมเศร้าอื่นๆ นั่นคือ ถ้าเป็นเยอะๆ ก็มีผลต่อการคิดฆ่าตัวตาย"
     อย่างที่คุณหมอบอก ความเหงาไม่เคยฆ่าใคร ยกเว้นแต่เหงา ซึมเศร้า แล้วไม่รักษาให้หาย ก็อาจจะเป็นต้นทางที่นำไปสู่ภาวะการฆ่าตัวตายได้
     ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต โดย นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงข้อมูลการฆ่าตัวตายของไทยในรอบ 14 ปี (ปี 2540-2553) ว่า สถิติการฆ่าตัวตายลดลงอย่างต่อเนื่อง คือจาก 5,700 รายต่อปี ลงมาอยู่ที่  3,700 รายต่อปี แต่ภาคที่ครองแชมป์ทำร้ายตัวเองมากที่สุดก็ยังเป็นภาคเหนือ
     แม้จะไม่ชี้ชัดว่า สภาพอากาศส่งผลต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายในประเทศไทย แต่สถิติส่วนใหญ่ก็ไปลงล็อคพอดีที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าภูมิภาคอื่นๆ
     อย่างไรก็ตาม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก กลับระบุชัดเจนว่า ประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงนั้น เป็นประเทศที่อยู่ในเขตหนาว อันดับหนึ่งนั้นคือประเทศลิธัวเนีย รองลงมาคือ เกาหลีเหนือ คาซัคสถาน เบลารุส ญี่ปุ่น รัสเซีย ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านี้ล้วนอยู่ในภูมิประเทศที่หนาวเย็นทั้งสิ้น
      แน่นอนว่า อุณหภูมิที่ลดลงส่งผลต่อภาวะจิตใจ และกระตุ้นให้คนที่มีอาการซึมเศร้าตัดสินใจกระทำอัตวินิบากกรรม ยิ่งในกลุ่มคนที่เป็น major depression หรือโรคซึมเศร้าปกติ เมื่อมาเจออากาศหนาวในช่วงหน้าหนาวแบบนี้ อาการก็อาจจะกำเริบมากขึ้น ไม่ต่างจากคนที่เป็น ptsd (post traumatic stress disorder) หรือ โรคจิตเวชหลังเหตุภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งคุณหมอคนเดิมแห่งโรงพยาบาลมนารมย์ ยืนยันว่า อาการเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาด้วยยาหรือจิตบำบัด ก็อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ทั้งนั้น
     "ตอนสึนามิในประเทศไทย ไม่มีถึงฆ่าตัวตาย เป็นแค่มีความคิด แต่ suicide (ฆ่าตัวตาย) ไม่สำเร็จ...หรืออย่างอุทกภัยครั้งนี้เรากลัวการเกิด ptsd คือเกิดอาการฝันร้าย ซึมเศร้า หรือบางทีอาจเกิดภาพหลอน ภาพน้ำท่วมมากระทันหันอย่างบางบัวทอง ก็อาจจะฝันร้ายตกใจตื่น...การฆ่าตัวตายส่วนมากเป็นภาวะ depression ที่ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม อยู่ไปก็ไม่มีใคร ตกงาน บ้านหาย ลูกเมียไม่อยู่ เพราฉะนั้นคนที่มีแนวโน้มซึมเศร้าก็จะฆ่าตัวตาย แต่กรมสุขภาพจิตจะทำงานเร็ว คือจะลงพื้นที่ตลอดเวลา ดังนั้นก็จะช่วยทำให้ผู้ประสบภัยไม่กลายเป็น ptsd จากภัยที่เกิดขึ้นได้"
       แม้กรมสุขภาพจิตจะลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน แต่ก็พบว่า ขณะนี้มีผู้ประสบภัยที่มีความเครียดสูง 5,652 ราย มีอาการซึมเศร้า 6,769 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1,021 ราย และต้องติดตามดูแลพิเศษ 1,598 ราย (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข นับแต่เดือนกรกฎาคม-วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554)
     "ปีนี้คนที่มาปรึกษาเรื่องน้ำท่วมจะเยอะกว่าปกติ คือประมาณ 10 คน จะมีภาวะเครียดจากน้ำท่วม 3 คน เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งเลย ที่ผ่านมาไม่มีแบบนี้เลย"
      ยืนยันกลุ่มผู้มีอาการเครียดมากขึ้นจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนรูปแบบพิบัติภัยจากน้ำท่วมใหญ่ไปสู่ภัยหนาวจัดอย่างฉับพลันในปีนี้ ส่อเค้าว่าจะมีกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดทำร้ายตัวเองมากขึ้น ซึ่งเมื่อถามว่า อากาศหนาวส่งผลต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้จริงหรือ แพทย์หญิงภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว บอก
     "อารมณ์ตรงนั้นอาจจะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น อาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของโรคร่วม สมมติมีโรคทางกายร่วมด้วย หรือการเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงข้อมูลว่า โรคนี้รักษาให้หายได้ มันยังเข้าถึงได้น้อย ก็เลยทำให้มีผลมากขึ้นในการคิดฆ่าตัวตาย"
      อย่างไรก็ดี โรคซึมเศร้านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยวิธีการรักษาจะมี 2 รูปแบบ คือ การใช้ยาและการทำจิตบำบัด
    "เพราะโรคซึมเศร้ามันเกิดจากสารเคมีที่ไม่สมดุล วิธีรักษาอันดับหนึ่ง คือ biological คือ ใช้ยา ยาต้านโรคซึมเศร้านี่แหละที่จะไปปรับสารเคมีในร่างกายให้สมดุล อันที่สองคือ ทำจิตบำบัด คือมานั่งพูด เปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการทำจิตบำบัดกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลีนิค จะทำให้สามารถเปลี่ยนมุมมองที่ผิดพลาดต่างๆ ได้"
     สำหรับใครที่มีอาการเริ่มต้น สังเกตตนเองแล้วดูคล้ายจะเป็น winter depression หรือซึมเศร้าธรรมดา จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ แนะนำว่า ให้ออกไปรับแสงธรรมชาติในช่วงเช้าบ้าง เพราะแสงแดดอ่อนๆ จะช่วยปรับสมดุลของสารเมลาโทนินและซีโรโทนินในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดอาหารจำพวกแป้งในช่วงฤดูหนาวลงบ้าง ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการซึมเศร้าได้มาก เมื่อไม่เหงาก็จะไม่เศร้า และจะไม่มีข่าว "ฆ่าตัวตาย" กระจายอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับอีกต่อไป


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

About admin

Advertisement

แสดงความคิดเห็น

 
Top